ฟันของเราทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารตามแต่เจ้าของจะรับประทานตั้งแต่เริ่มขึ้น ผ่านกาลเวลาจนเจ้าตัวย่างเข้าสู่ภาวะสูงวัย ระยะเวลาดังกล่าว ผ่านเวลาหลายสิบปี ความเสื่อมย่อมมาเยือนเหมือนสุขภาพหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ เช่นเดียวกัน การดูแลสุขภาพฟันผู้สูงอายุจึงต้องได้รับความเอาใจใส่ไม่แพ้สุขภาพร่างกายและจิตใจ
มีอะไรเกิดขึ้นกับสุขภาพฟันของผู้สูงวัย
แม้ฟันจะเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงและทนทานก็จริง แต่การใช้งานของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อาหารและยาบางชนิดมีส่วนทำให้ฟันเสื่อมเร็วกว่าคนอื่น พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร บางคนชอบขบเคี้ยวของแข็ง การดูแลรักษาความสะอาดฟันก็มีผลกระทบต่อฟันและปริทันต์ด้วยเหมือนกัน ซึ่งสามารถสรุปการเปลี่ยนไปของสุขภาพฟันรวมถึงปริทันต์ของผู้สูงวัยได้ดังนี้
- ปัญหาฟันของผู้สูงวัยที่ฟันของท่านผ่านการใช้งานมาหลายสิบปีแล้วนั้น มีตั้งแต่ฟันบิ่น ฟันเปราะหักง่าย ฟันสึกซึ่งถ้าสึกมากๆ อาจมีปัญหาถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตาย บ่อยครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องถอนฟัน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นปัญหาของเคลือบฟันที่เปลี่ยนไป และปัญหาทั่วไปคือตัวฟันและรากฟันผุ
- ปัญหาเหงือก ทำหน้าที่รองรับฟันมานาน และมักได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของฟันอยู่เสมอ แม้เชื้อจุลินทรีย์ พลัคที่เกาะตามฟันก็มีผลต่อสุขภาพเหงือกไปด้วย รวมถึงปัญหาเหงือกร่นจากการแปรงฟันผิดวิธี บางคนมีปัญหาเหงือกอักเสบเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพทางกายที่เสื่อม ทำให้มีโรคประจำตัวทั้งโรคหัวใจ เบาหวาน ยิ่งบางคนสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อย ยิ่งมีปัญหามากขึ้น
- ปัญหากระดูกเบ้าฟัน เมื่อเวลาผ่านไป สาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียมและดึงแคลเซียมในร่างกายไปใช้ ทำให้กระดูกและฟันเสื่อมลง กระดูกเบ้าฟันที่เสื่อมลงจากเหตุนี้เช่นกัน
- ปัญหาเอ็นยึดปริทันต์ กว่าจะเข้าสู่อายุสูงวัย ฟันและปริทันต์ถูกทำลายจากโรคฟันเป็นระยะ ตัวเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดรากฟันและกระดูกเบ้าฟันก็พลอยเสื่อมไปด้วย ทำให้ฟันโยกคลอนง่าย ผู้สูงวัยจึงมีปัญหาฟันหลุด ทั้งที่ตัวฟันมีธรรมชาติแข็งแรง บ่อยครั้งที่ผู้สูงวัยมีปัญหาเรื่องนี้มาก จำนวนไม่น้อยจึงต้องใส่ฟันปลอมแบบทั้งปากเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปัญหาน้ำลายแห้ง ปากแห้ง เพิ่มปัญหาเวลาเคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร ส่งผลต่อเนื่องไปถึงฟันผุ ปวดแสบร้อนในปาก
- โรคในปาก เช่นมะเร็งในช่องปาก
สิ่งที่ควรทำเพื่อดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของผู้สูงอายุ
1. การทำความสะอาดเหงือกและฟัน ผู้สูงวัยเมื่ออายุมากขึ้น ความถนัดในการแปรงฟันอาจลดลง ทำให้มีโอกาสแปรงฟันไม่สะอาด หรือทำอย่างระวังน้อยลง จึงควรได้รับการดูแลช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแปรง ดูแลเมื่อแปรง ดูแลการใช้ไหมขัดฟัน เป็นต้น
- กรณีที่ผู้สูงอายุเริ่มต้องใช้ฟันปลอม ให้ดูแลเรื่องการถอดทำความสะอาดให้ถูกวิธี ไม่มีเชื้อโรคติดค้างที่อาจส่งผลให้มีปัญหาข้างเคียงเหงือกและช่องปาก และต้องมีการถอดแช่น้ำเอาไว้ ไม่ให้เปราะหักง่าย ใช้งานได้นาน กรณีมีฟันปลอมที่ติดถาวร การทำความสะอาดต้องมีความละเอียดเหมือนกับฟันแท้ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟัน รวมถึงบริเวณขอบเหงือก ใต้ฟันปลอมด้วย
- ระมัดระวังเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร ควรเลือกอาหารที่ไม่แข็ง ไม่เหนียว รสไม่จัดไปในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงไม่เลือกอาหารที่ส่งผลทำลายฟันให้อ่อนแอลง เช่น พวกน้ำอัดลม ไม่รับประทานอาหารจุบจิบเพราะอาจมีปัญหาเรื่องการทำความสะอาดในระหว่างวัน
การบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น
การบริหารดังกล่าวมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้สูงอายุ เพราะถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรง มีการขยับบริหารจะมีผลทั้งช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อและปลุกเส้นประสาท การเคลื่อนไหวของลิ้นก็จะดี การทำการบดเคี้ยวอาหาร การพูด ก็ยังมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารได้ดังนี้
- เหยียดริมฝีปากออกให้เต็มที่เหมือนยิ้มแบบไม่เปิดปาก ไปให้สุด ขณะทำให้หลับตาและขยับโหนกแก้ม
- ท่าที่ 2 ลืมตาให้กว้างๆ พร้อมอ้าปากให้เต็มที่
- หุบปากทำแก้มป่อง ทางซ้าย ย้ายไปทางขวา สลับไปมา
- บริหารลิ้นด้วยการแลบลิ้นเข้าๆ ออกๆ ตวัดลิ้นไปทางซ้ายและขวา ขึ้นบน ลงล่าง จากนั้นปิดปากดันลิ้นกับเพดาน ดันริมฝีปาก ดันแก้ม เพื่อให้ลิ้นได้เคลื่อนไหวไปทุกมุมในปาก โดยที่ไม่มีการเปิดปากขณะทำ
- กดจุดเพื่อกระตุ้นต่อมน้ำลาย มีทั้งหมด 3 จุดหลักคือ ต่อมใต้หู อยู่บริเวรฟันกรามด้านบน ต่อมใต้คาง และต่อมใต้ลิ้น ข้อนี้ผู้ดูแลต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อทำให้ถูกต้อง
การดูแลผู้สูงวัยนั้น ทั้งสุขภาพทางกาย ทางใจ และสุขภาพฟัน ต้องมีความเอาใจใส่ ระมัดระวัง เพราะบ่อยครั้ง ผู้สูงวัยเองจะไม่ค่อยบอกเมื่อตัวเองมีปัญหา เพราะเกรงว่าจะเป็นการรบกวนลูกหลานให้รำคาญใจ หรือลำบากเพราะตน จึงอดทนเก็บปัญหาไว้ ซึ่งบางครั้งปัญหาเริ่มต้นอาจจะไม่มากแก้ไขง่าย แต่การปล่อยไว้จนเรื้อรังทำให้เกิดผลเสียจนบางครั้งแก้ไขไม่ได้อีกต่อไปก็มี คนดูแลจึงต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด ซักถามและทำให้ผู้สูงอายุมีความคิดใหม่ว่า การบอกลูกหลานเมื่อมีปัญหานั้นคือวิธีที่ถูกต้องและเป็นการช่วยแบ่งเบาให้ลูกหลานมากกว่าการปล่อยทิ้งไว้